Ads Top

เปรียบเทียบระหว่างระบบปฏิบัติการ Android กับ iOS ต่างกันอย่างไร


Advertising
ในปัจจุบัน Android และ iOS เป็นระบบปฏิบัติการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดที่ใช้บนสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต ถ้าพูดในแง่ของความนิยม Android จะนำหน้ามากกว่า สาเหตุคงมาจากความหลากหลายของ บริษัทผู้ผลิตสมาร์ตโฟนและโอกาสที่ดีสำหรับนักพัฒนาทั้งหลายที่ชื่นชอบในการพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน


ในขณะที่ iOS มีความเป็นมิตรกับผู้ใช้และมีความคล่องตัวมากกว่า ซึ่งสามารถเปรียบเทียบแต่ละด้านได้ดังนี้

1) ด้านการใช้งาน
Android จะมีความเป็นอิสระในการใช้งานมากกว่า iOS เนื่องจากว่าสามารถปรับแต่งการตั้งค่าของเครื่องได้มากมาย โดยที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกหรือติดตั้งแอปพลิเคชันภายนอกได้ สำหรับ iOS หากต้องการที่จะปรับแต่งการตั้งค่าได้มากยิ่งขึ้นจะต้องทำการปลดล็อกระบบหรือที่เรียกกันว่า การเจลเบรค
(Jailbreak) แต่การได้มาซึ่งความเป็นอิสระในการตั้งค่า ก็ย่อมมีความเสี่ยงในด้านความปลอดภัยตามมาอีกด้วย จุดเด่นของ iOS คือมีบริการจากส่วนกลางไม่ว่าจะเป็น iTunes, Games Center และ iCloud ทำให้ผู้ใช้รู้สึกได้ถึงความเป็นหนึ่งเดียวของระบบ มีบัญชีเดียวแต่สามารถใช้งานได้ทุกบริการ

2) ด้านความปลอดภัย
ความปลอดภัยของ iOS จะมีความปลอดภัยมากกว่า Android เนื่องจากว่าเป็นระบบปิด การนำไปเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยากหรือการไม่ยอมให้ติดตั้งแอปพลิเคชันจากภายนอกได้ ดังนั้นต้องดาวน์โหลดจาก App Store เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจาก Android ที่ยินยอมให้ผู้ใช้สามารถติดตั้ง แอปพลิเคชันจากไฟล์ที่ดาวน์โหลดได้ แต่ปัจจุบันใน Android จะมีระบบที่เรียกว่า Safety Net ที่สามารถสแกนอุปกรณ์หรือแอปพลิเคชันที่เป็นอันตรายได้
กระบวนการตรวจสอบแอปพลิเคชันของ iOS ที่จะถูกส่งขึ้นไปบน App Store เป็นการตรวจสอบโดยมนุษย์ ซึ่งจะตรวจสอบทั้งคุณภาพและความปลอดภัยในการใช้งานของแอปพลิเคชัน ดังนั้นจึงมีโอกาสน้อยมากที่แอปพลิเคชันอันตรายจะหลุดขึ้นมาบน App Store ในส่วนความเข้มงวดในการจำกัดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลสำคัญของผู้ใช้งานแอปพลิเคชันเมื่อต้องการเข้าถึงข้อมูลสำคัญหรือต้องการใช้ฟังก์ชันของแอปพลิเคชันที่อาจละเมิดความเป็นส่วนตัว เช่น เปิดใช้งานกล้องถ่ายรูป อัดเสียงดูภาพที่ถ่าย ดูข้อมูลปฏิทิน ดูตำแหน่ง GPS จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ใช้ก่อนเสมอ โดยจะมีหน้าต่างแจ้งเตือนการขออนุญาตแสดงขึ้นมาในครั้งแรกที่ผู้ใช้งานเรียกใช้ ซึ่งจะต่างจากระบบปฏิบัติการ Android ที่แอปพลิเคชันจะต้องขอสิทธิ์ทุกอย่างตั้งแต่แรก และหากผู้ใช้จะติดตั้งแอปพลิเคชันจะต้องยอมมอบสิทธิ์ทั้งหมดที่แอปพลิเคชั่นนั้นร้องขอโดยไม่สามารถเลือกว่าจะอนุญาตให้แอปพลิเคชันมีสิทธิ์แค่อย่างใดอย่างหนึ่งได้ แต่ในปัจจุบัน Android ตั้งแต่เวอร์ชัน 8 ขึ้นไป ได้มีการปรับปรุงในส่วนนี้แล้ว แอปพลิเคชันที่ติดตั้งอยู่ในเครื่องจะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของแอปพลิเคชันอื่นได้นอกจากผู้ใช้จะเป็นผู้กำหนดข้อมูลที่ต้องการแชร์ระหว่างแอปพลิเคชันต่างๆ ระบบการจัดการแอปพลิเคชันของ iOS แอปพลิเคชันที่รันเป็น Background (ไม่ถูกเรียกขึ้นมาแสดงผล) จะถูกจำกัดความสามารถในการทำงาน ไม่สามารถใช้ทรัพยากรของระบบได้มากเท่า Android เช่น แอปพลิเคชันของ iOS ที่รันเป็น Background จะสามารถรับข้อความแจ้งเตือนเพื่อมาแสดงผลได้เท่านั้น ไม่สามารถอัดเสียงหรือประมวลผลงานอื่นที่ทำค้างอยู่ได้

3) ด้านโครงสร้างและการทำงานของฮาร์ดแวร์กับระบบปฏิบัติการ
iOS มีโครงสร้างที่ซับซ้อนในการติดต่อกันระหว่างฮาร์ดแวร์กับซอฟต์แวร์ ซึ่ง Apple ผลิตฮาร์ดแวร์มาเพื่อระบบปฏิบัติการ iOS โดยเฉพาะ ทำให้สามารถทำงานเข้ากันได้ดี แต่การทำงานยังด้อยกว่า Android เนื่องจาก Android มีโครงสร้างที่ซับซ้อนอีกชั้นหนึ่ง ออกแบบให้เอาไปใช้ได้ง่ายกับอุปกรณ์บนมือถือแบบใดก็ได้ ส่วนใหญ่แต่ละบริษัทผู้ผลิตมือถือออกแบบส่วนติดต่อผู้ใช้ (User Interface) ได้ดี ทำให้มีความหลากหลายของระบบเหนือกว่า iOS และมากกว่า Android ต้นฉบับ

4) ด้านฟังก์ชันของระบบ
iOS มีฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลายน้อยกว่าเพราะ Apple เป็นผู้สร้างสรรค์เพียงแหล่งเดียว ต่างจาก Android ที่มีฟังก์ชันการทำงานหลากหลายเพราะระบบปฏิบัติการเป็นแบบเปิด ทุกบริษัทผู้ผลิตมือถือจะช่วยกันพัฒนาและทาง Google ก็จะนำมาใส่ในระบบปฏิบัติการ Android รุ่นต่อไป

5) ด้านการทำงานหลายอย่างพร้อมกัน (Multitasking)
Android จะเป็นการทำงานแบบ Full Multitask คือแอปพลิเคชันที่มีหลายฟังก์ชันในตัวเดียวกัน ข้อดีคือ ทำงานได้เหมือนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่สามารถทำงานหลายๆ อย่างได้พร้อมกันเต็มเวลา ในส่วนของ iOS จะเป็นแบบ Semi Multitask คือจะทำงานเฉพาะเเอปพลิเคชันที่เปิดอยู่ให้มีความสำคัญสูงสุด แต่แอปพลิเคชันที่รันเป็น Background ส่วนใหญ่ จะไม่ทำงานต่อ อยู่ในสถานะ sleep หรือ Minimal work เท่าที่จำเป็น ทำให้สามารถทำอะไรได้ทีละอย่าง ไม่สามารถทำอะไรหลายอย่างได้พร้อมกัน

6) ด้านการอัปเดตระบบปฏิบัติการ
iOS จะได้รับการอัปเดตได้ยาวนานกว่า เพราะ iOS ออกแบบมาเพื่อให้ใช้ได้เฉพาะอุปกรณ์ของ Apple ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้เข้าถึงฮาร์ดแวร์ได้โดยตรง ยกตัวอย่างเช่น iPhone 5 มาพร้อมกับ iOS 6 ซึ่งสามารถอัปเดตได้ยาวนานถึง iOS 10 โดย Apple จะออกเวอร์ชันของ iOS ปีละรุ่นเท่านั้น ต่างจาก Android ซึ่งก็คือเครื่องเสมือน (Virtual Machine) แบบหนึ่งที่ถูกใช้งานอยู่บน Linux Kernel และจากการที่เป็น Virtual Machine นั้นเอง ทำให้มีความต้องการด้านฮาร์ดแวร์มากขึ้น อย่างที่เห็น iPhone ที่มีหน่วยความจำเพียง 1GB แต่กลับทำงานได้ไหลลื่น ผิดกับ Android ที่ส่วนใหญ่จะใส่สเปคให้สูงๆ เพื่อให้ประมวลผลได้เร็วมากขึ้น และเมื่อ Google ออก Android เวอร์ชันใหม่ อุปกรณ์ที่จะได้รับการอัปเดตก่อนก็คืออุปกรณ์ของ Google เอง แล้วค่อยออกมาเป็น AOSP หรือ Android Open Source Project และเมื่อออกอัปเดตมาแล้ว บริษัทผู้ผลิต Chipset ก็ต้องดูว่ามีชุดคำสั่งหรือความเข้ากันกับชิปเซต (Chipset) หรือฮาร์ดแวร์ จะเห็นได้ว่าสมาร์ตโฟน Android บางรุ่นตกรุ่นเร็ว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับรุ่นของ Chipset ด้วยเช่นกัน

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีระบบปฏิบัติการเพียงแค่ Android และ iOS ที่ยังเป็นที่นิยม แต่ก็ยังมีการพัฒนาระบบปฏิบัติการใหม่ๆ ที่เห็นได้ชัดที่สุดในตอนนี้คือ Tizen OS ของ Samsung ที่ได้รับการผลักดันอย่างจริงจังมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังมีข่าวลือว่าระบบปฏิบัติการที่ Huawei พัฒนาขึ้น ซึ่งใช้โค้ดเนมว่า Hongmeng เป็นระบบปฏิบัติการข้ามแพลตฟอร์มที่ใช้งานร่วมกันได้กับแอปพลิเคชันของ Android โดย Huawei ได้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2555 และยังไม่มีรายงานการกำหนดชื่ออย่างเป็นทางการสำหรับระบบปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งต่างจากระบบปฏิบัติการ Tizen ของ Samsung ตรงที่ Tizen ไม่ได้พัฒนาขึ้นมาแทนที่ Android โดยตรง แต่ความสำเร็จของระบบปฏิบัติการนั้น ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่าย หากไม่ได้รับการยอมรับหรือไม่ยอมให้นักพัฒนาเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาแอปพลิเคชัน รวมถึงการออกแบบส่วนติดต่อผู้ใช้ หากออกแบบมาให้ใช้งานยากและไม่คล่องตัวกับผู้ใช้งาน ก็อาจประสบความล้มเหลวอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับ Windows Phone ซึ่งจะสิ้นสุดการให้บริการปลายปี 2562 นี้

Sponsored Links

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.